วันพุธที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ประเพณีภาคกลาง





ประเพณีโยนบัวหรือรับบัว เป็นประเพณีของชาวบางพลีที่เริ่มต้นจาก “น้ำใจไมตรี” ที่หยิบยื่นให้กับชาวพระประแดงและชาวอำเภอเมืองสมุทรปราการผ่านการเก็บดอกบัวให้กัน ปีแล้วปีเล่าจนกลายเป็นประเพณีสำคัญของชาวบางพลีมาจนถึงทุกวันนี้
ตามความเชื่อของชาวพุทธ เชื่อกันว่าดอกบัวเป็นดอกไม้ที่เข้าไปมีบทบาทสำคัญอยู่หลายๆ ครั้งในพุทธประวัติ และยังเป็นดอกไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์และความเป็นมงคล  ประกอบกับสมัยก่อนในเขตอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการนั้น มีดอกบัวขึ้นอยู่ตามลำคลองเป็นจำนวนมาก ชาวบางพลีจึงริเริ่มให้มีประเพณีโยนบัวหรือรับบัวขึ้นหนึ่งวันก่อนวันออกพรรษา
ชาวบางพลีต่างร่วมแรงร่วมใจช่วยกันตกแต่งเรือสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญของชาวบางพลี หลวงพ่อโต ล่องไปตามลำคลอง เพื่อรับดอกบัวที่ผู้คนต่างมายืนรอและพยายามโยนบัวจากสองฝั่งคลองมาให้ถึงเรือที่ประดิษฐานหลวงพ่อโตด้วยจิตศรัทธา ระหว่างที่ล่องไปก็จะมีเรือขบวนร้องรำทำเพลง สร้างบรรยากาศสนุกสนานไปตลอดเส้นทางที่ขบวนเรือผ่าน
ที่มาของประเพณีโยนบัวหรือรับบัวนั้นมาจากสมัยก่อนย่านบางพลีจะมีดอกบัวขึ้นอยู่ตามลำคลอง ใครที่ต้องการดอกบัวไปบูชาก็จะแวะมาหาดอกบัวในที่แห่งนี้ ครั้งหนึ่งชาวอำเภอพระประแดงและชาวอำเภอเมืองสมุทรปราการต้องการดอกบัวไปบูชาพระคาถาพันและบูชาพระเนื่องในเทศกาลออกพรรษา  และที่ๆ มีดอกบัวให้เก็บจำนวนมากก็คือตามลำคลองบางพลีนั่นเอง คนจากสองอำเภอนี้จึงชักชวนกันพายเรือมาตามลำคลองเพื่อเก็บดอกบัว ในวันขึ้น ๑๓ ค่ำ
ชาวบางพลีซึ่งเป็นเจ้าบ้านพอทราบข่าวว่าคนจากสองอำเภอนี้มาเก็บดอกบัวเพื่อไปใช้บูชาพระ เห็นถึงความศรัทธาจึงนัดแนะคนบางพลีออกมาร่วมเก็บดอกบัว พร้อมกับเตรียมข้าวปลาอาหารไว้เลี้ยงรับรองชาวพระประแดงและชาวสมุทรปราการด้วย เมื่อเรือของชาวพระประแดงและชาวสมุทรปราการผ่านมาถึงหมู่บ้านบางพลีใหญ่ ชาวบางพลีก็เรียกให้แวะรับดอกบัวตามบ้านจากสองฝั่งคลอง
ว่ากันว่าการส่งมอบดอกบัวให้กันของชาวบางพลี ชาวพระประแดงและชาวอำเภอเมืองสมุทรปราการนั้นเป็นภาพที่งดงาม สุภาพ ส่งและรับด้วยมือและพนมมือตั้งจิตอธิษฐานอนุโมทนาผลบุญร่วมกัน หลังจากนั้นเป็นต้นมาชาวพระประแดง ชาวสมุทรปราการและชาวบางพลีกยังคงปฏิบัติเช่นนี้ติดต่อกันมาทุกปีๆ จนกลายเป็นมีการนัดหมายระหว่างกันที่ทุกปีก่อนวันออกพรรษาจะต้องมานัดรับดอกบัวกัน






ประเพณี.net

1 ความคิดเห็น: